แพ้ท้อง เป็นอาการทั่วไปของคุณแม่ตั้งครรภ์หลาย ๆ คนต้องเผชิญ และเป็นอาการเตือนอย่างแรก ๆ ที่บ่งบอกถึงการตั้งครรภ์เลยทีเดียว แต่ในคุณแม่ตั้งครรภ์บางราย อาจจะมีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรงที่น่าเป็นกังวลอยู่ จึงเกิดคำถามว่าการแพ้ท้องหนัก ของคุณแม่ตั้งครรภ์นั้นจะส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ของเราหรือไม่
วันนี้เรามาเรียนรู้ทั้งอาการแพ้ท้องปกติ และอาการแพ้ท้องที่รุนแรงไปด้วยกัน เพื่อดูวิธีสังเกตและวิธีการรับมือกับอาการเหล่านั้นไปด้วยกันค่ะ
แพ้ท้อง คือ
แพ้ท้อง หรือ Morning Sickness คืออาการที่แสดงสัญญาณการตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก โดยเกิดจากฮอร์โมนตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นตามอายุครรภ์ของคุณแม่ ซึ่งอาการหนักเบามักจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน คุณแม่ตั้งครรภ์บางรายอาจจะไม่มีอาการ แต่ในบางรายก็มีอาการแพ้เกือบตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์เลยทีเดียว
อาการแพ้ท้องโดยทั่วไป
อารมณ์แปรปรวน เนื่องจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปของคุณแม่ตั้งครรภ์ อาจทำให้อารมณ์แปรปรวนไปตามฮอร์โมนด้วยนั่นเอง
คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ พบได้บ่อยในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ มีอาการคล้ายกับอาการเมารถ หรือเมาเรือ
ท้องอืดเหมือนอาหารไม่ย่อย
กรดไหลย้อน
อ่อนเพลีย หน้ามืด
เรอเปรี้ยว
จุกแน่นลิ้นปี่
ไวต่อกลิ่นและรสชาติต่าง ๆ
ปัสสาวะ เข้าห้องน้ำบ่อย เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ ไปกระตุ้นให้มีการปัสสาวะบ่อยขึ้น
อยากทานของแปลกที่ไม่เคยทาน หรืออยากทานของที่ชอบมากกว่าปกติ หิวบ่อย ช่วงตั้งครรภ์คุณแม่มักจะกินเยอะกว่าปกติ เพราะต้องการพลังงานไปให้ร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์ด้วย จึงหิวบ่อย ต้องการพลังงานมากกว่าปกตินั่นเอง
การแพ้ท้องรุนแรงหรือแพ้ท้องหนัก คือ
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง มักเกิดในช่วง 9 – 13 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาการจะไม่หายง่าย ๆ เหมือนการแพ้ท้องทั่วไป ซึ่งภาวะแพ้ท้องรุนแรงนั้น อาจจะทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ทานอาหาร หรือแม้แต่เครื่องดื่มก็ไม่สามารถทานได้ จนทำให้เกิดความเสี่ยงขาดสารอาหาร หน้ามืด เป็นลม ปัสสาวะน้อย ถึงขั้นช็อคและอาเจียนเป็นเลือดได้เลยทีเดียว ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการแพ้ท้องรุนแรงจึงควรไปพบบแพทย์ทันที เพื่อลดความเสี่ยงด้วยนั่นเอง
อาการแพ้ท้องรุนแรง
อาการแพ้ท้องรุนแรงนั้น แนะนำให้คุณพ่อ และคุณแม่ตั้งครรภ์สังเกตอาการและควรรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันทีที่มีอาการดังต่อไปนี้ เพื่อประเมินความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ พร้อมรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมตามอาการ
ปวดศีรษะ มึน
ความดันโลหิตต่ำ
ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
น้ำลายมากกว่าปกติ
มีภาวะขาดน้ำ ผิวแห้ง
คลื่นไส้หนักทั้งวัน
อาเจียนอย่างรุนแรง มากกว่า3-4 ครั้งต่อวัน
อาเจียนมีเลือดปน หรือเป็นสีน้ำตาล
รับประทานอาหารหรือน้ำไม่ได้
อ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลม
น้ำหนักลดลงมากกว่าก่อนตั้งครรภ์
ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ
มีอาการเพ้อ สับสน
วิธีการรับมือกับอาการแพ้ท้อง รวมถึงการป้องกันอาการแพ้ท้องรุนแรง
โดยปกติแล้วอาการแพ้ท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์นั้นจะหายได้เองในสัปดาห์ที่ 14 ของการตั้งครรภ์ แต่คุณแม่ตั้งครรภ์บางท่านก็อาจจะมีอาการแพ้ยาวไปจนถึงใกล้คลอดเลยก็เป็นได้ ดังนั้นในช่วงการแพ้ท้องแนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ทำตามดังต่อไปนี้ เพื่อลดการแพ้ท้อง และลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ท้องรุนแรงด้วย
นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสบายมากขึ้น แต่ไม่ควรนอนมากเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อกล้ามเนื้อและน้ำหนักตัวได้
ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ แนะนำให้ดื่มน้ำก่อนหรือหลังอาหาร 30 นาที และจิบบ่อย ๆ ในระหว่างวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะขาดน้ำจากการคลื่นไส้ อาเจียนด้วยนั่นเอง
หลีกเลี่ยงการทานอาหารรสจัด อาหารมัน และอาหารฤทธิ์ร้อน เพราะอาจไปกระตุ้นให้เกิดการแพ้ท้องได้ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวเหนียว กะทิ มะพร้าว หรืออาหารที่มีเครื่องเทศมาก ก็ควรเลี่ยงเพราะจะทำให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นได้ง่าย
รับประทานอาการที่มีรสจืด อย่างเช่น โจ๊ก กล้วยสุก หรืออาหารที่มีฤทธิ์เย็น อย่าง แตงโม แก้วมังกร เป็นต้น
แนะนำให้คุณแม่เตรียมเครื่องดื่มหรือของว่างอย่าง ขนมปังแคร็กเกอร์ ไว้ทานในตอนตื่นทันทีก่อนไปทำกิจวัตรประจำวันอื่น ๆเพราะการทานของเหล่านี้จะทำช่วยไม่ให้เกิดอาการท้องว่างแล้ววิงเวียนศีรษะ ลดการเกิดอาการแพ้ท้องไปได้ด้วยนั่นเองค่ะ
Comments