top of page

ฝุ่น PM 2.5 อันตรายต่อคนท้อง และทารกในครรภ์อย่างไร มีวิธีป้องกันอะไรบ้าง

ฝุ่น PM 2.5 กลายเป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่หลายพื้นที่ต้องเผชิญ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวและช่วงที่มีสภาพอากาศปิด ฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทุกคน แต่สำหรับหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์แล้ว อันตรายยิ่งทวีคูณมากกว่าปกติ วันนี้เราจะพามารู้จักกับผลกระทบขอฝุ่น PM 2.5 ต่อคนท้อง ทารกในครรภ์ และวิธีป้องกันที่ควรรู้

ฝุ่น PM 2.5 กับ คนท้อง

ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร และทำไมถึงอันตราย

ฝุ่น PM 2.5 ( Particulate Matter ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร ) เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กมากที่สามารถแทรกซึมเข้าสู่ปอด และเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย อนุภาคเหล่านี้อาจประกอบไปด้วยสารพิษ เช่น โลหะหนัก ซัลเฟต ไนเตรต และสารก่อมะเร็ง เมื่อสูดดมเข้าไปเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้


ฝุ่น PM 2.5 กับ คุณแม่ตั้งครรภ์

ผลกระทบของ ฝุ่น PM 2.5 ต่อคุณแม่ตั้งครรภ์

  • เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ ภูมิแพ้กำเริบ หรือโรคหืด

  • เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ฝุ่น PM 2.5 สามารถทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และเพิ่มโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ

  • กระตุ้นการอักเสบภายในร่างกาย ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของแม่และอาจกระทบต่อทารกในครรภ์


ฝุ่น PM 2.5 กับ ทารกในครรภ์

ผลกระทบของ ฝุ่น PM 2.5 ต่อทารกในครรภ์

  • เพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด การที่คุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณสูงอาจทำให้มดลูกเกิดการอักเสบ และส่งผลให้มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดมากขึ้นได้นั่นเอง

  • เสี่ยงทำให้ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ ทารกในครรภ์ที่ได้รับสารพิษจากฝุ่น PM 2.5 ผ่านทางคุณแม่ท้องอาจมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานได้

  • ส่งผลต่อพัฒนาการของสมองและปอด มีงานวิจัยบางฉบับพบว่า ทารกที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 อาจมีพัฒนาการทางสมองและปอดที่ด้อยลง หรือน้อยกว่าปกติ


วิธีป้องกัน ฝุ่น PM 2.5 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าฝุ่น PM2.5 ค่อนข้างส่งผลอันตรายต่อทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์และลูกน้อยในครรภ์ ดังนั้นคุณแม่ท้องควรต้องป้องกันตัวเองให้ดี ซึ่งมีวิธีป้องกันสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ดังต่อไปนี้

ฝุ่น PM 2.5 กับ คนท้อง

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูง : - ตรวจสอบค่าฝุ่น PM2.5 จากแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์พยากรณ์อากาศก่อนออกจากบ้าน - หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในช่วงที่ค่าฝุ่นสูง โดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็นที่ฝุ่นมักหนาแน่น

  2. ใช้หน้ากากอนามัยที่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ :

    - เลือกใช้หน้ากากที่มีประสิทธิภาพ เช่น N95 หรือ KN95 ที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้

    - หลีกเลี่ยงหน้ากากผ้าธรรมดา เพราะไม่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้ดีพอ

  3. ใช้เครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน :

    - ควรเลือกเครื่องฟอกอากาศที่มีไส้กรอง HEPA Filter ซึ่งเป็นแผ่นกรองอากาศชนิดหนึ่ง ที่สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กได้ละเอียดถึง 0.3 ไมครอน จึงสามารถดักจับฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    - หากเป็นไปได้ควรปิดประตูหน้าต่างให้สนิท เพื่อลดการนำฝุ่นจากภายนอกเข้ามาในบ้าน

  4. เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง :

    - รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซีและอี เช่น ส้ม ฝรั่ง พริกหวาน และอัลมอนด์

    - ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ร่างกายขับสารพิษออกไป

    - นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเบา ๆ ตามความเหมาะสม

  5. พบแพทย์ตามนัดและแจ้งความเสี่ยง :

    - หากอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษสูง ควรแจ้งแพทย์ที่ฝากครรภ์ให้ทราบ เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม

    - หากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หรือเวียนศีรษะ ควรรีบพบแพทย์ทันที



ฝุ่น PM 2.5 เป็นภัยเงียบที่อาจส่งผลร้ายแรงทั้งต่อคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ได้ หากต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูง ควรป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม ด้วยการหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์


การใส่ใจเรื่องคุณภาพอากาศในช่วงตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะสุขภาพที่ดีของคุณแม่ท้องในวันนี้ จะส่งผลต่อสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ไปจนถึงวันข้างหน้า ดูแลตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลกกันนะคะ














Comments


bottom of page