อาหารบำรุงครรภ์ เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่อาจจะต้องดูแลกันเป็นพิเศษ เพื่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ด้วยนั่นเอง
ในช่วงระยะเวลาการตั้งครรภ์ของคุณแม่นั้น อาหารที่คุณแม่เลือกรับประทานเข้าไปจะส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์เป็นอย่างมากเลยก็ได้ เพราะอาหารที่ผ่านจากการรับประทานของคุณแม่นั้น จะเข้าไปช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้ลูกน้อยในครรภ์ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นหากคุณแม่เพิ่งเคยตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก หรือคุณแม่ที่ผ่านการตั้งครรภ์มาแล้ว แต่ยังไม่ทราบถึงเรื่องนี้ วันนี้เรามาศึกษาและเลือกรับประทานที่ดีต่อร่างกายคุณแม่ และสุขภาพลูกน้อยในครรภ์กันค่ะ
อาหารบำรุงครรภ์ แต่ละช่วงอายุการตั้งครรภ์ที่เหมาะสม
ต้องบอกก่อนว่าแต่ละช่วงอายุการตั้งครรภ์ของคุณแม่นั้น ร่างกายจะต้องการรับสารอาหารที่ต่างกัน เพื่อให้เพียงพอกับลูกน้อยในครรภ์ที่เจริญเติบโตขึ้นด้วยนั้นเอง ซึ่งแบ่งตามช่วงอายุครรภ์ได้ดังนี้
ไตรมาสแรก อายุครรภ์ 0 – 3 เดือน : เป็นช่วงที่ทารกเริ่มมีการสร้างอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการขยายขนาด ซึ่งระยะนี้คุณแม่มักจะมีอาการแพ้ท้อง รับประทานอะไรไม่ค่อยได้ อาจจะทำให้น้ำหนักตัวลดลง แนะนำให้แบ่งทานเป็นมื้อย่อย ๆ
สารอาหารที่ควรได้รับในไตรมาสนี้ :
คาร์โบไฮเดรตย่อยง่าย เช่น ข้าวกล้อง มัน เป็นต้น เพื่อให้คุณแม่ทานได้ง่ายขึ้น
อาหารที่มีกรดโฟลิก มีมากในผักใบเขียว , กรดไขมันโอเมก้า3 ในปลาทู ปลาแซลมอน เป็นต้น เพื่อสร้างเซลล์สมองของลูกน้อยในครรภ์
วิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามิน C เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้ทารกแข็งแรง มีในผลไม้ ฝรั่ง ส้ม มะขามป้อม , วิตามิน B รวม ในไข่แดง ตับ นม เพื่อสร้างเซลล์สมองและความจำให้ลูกน้อย
ตัวอย่างอาหารบำรุงครรภ์ในไตรมาสแรก : ไก่ผัดขิง บล็อคโคลีผัดกุ้ง ยำผลไม้รวม ต้มจืดตำลึง
ไตรมาสที่ 2 อายุครรภ์ 4 – 6 เดือน : ช่วงนี้คุณแม่จะเริ่มรับประทานได้มากขึ้น ไม่มีอาการแพ้ และลูกน้อยในครรภ์ก็จะเริ่มกำลังสร้างอวัยวะต่าง ๆ พร้อมทั้งเริ่มมีการเจริญเติบโตทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ต้องได้รับสารอาหารและพลังงานที่เพียงพอต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ด้วย
สารอาหารที่ควรได้รับในไตรมาสนี้ :
อาหารกลุ่มโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่ไขมันน้อย เช่น ปลา นม ไข่ เพื่อสร้างเนื้อเยื่อของลูกน้อย
อาหารที่มีธาตุเหล็ก เป็นการสร้างเลือดเพิ่ม เพื่อส่งสารอาหารและออกซิเจนไปถึงลูกน้อยในครรภ์ จะพบมากใน เนื้อสีแดง ตับ ไข่แดง กระเพรา เป็นต้น
ไอโอดีน จากอาหารทะเล จะช่วยพัฒนาระบบประสาทและเซลล์สมองของทารกในครรภ์
อาหารที่มีกากใยสูง เพราะช่วงนี้คุณแม่จะท้องผูกได้ง่าย ซึ่งจะมีใน ขนมปังโฮลวีท ผัก ผลไม้
ตัวอย่างอาหารบำรุงครรภ์ในไตรมาสที่ 2 : ผัดผักรวม แกงส้มผักรวม ต้มเลือดหมู ตับผัดกระเพรา
ไตรมาสที่ 3 อายุครรภ์ 7 – 9 เดือน : เป็นช่วงที่ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตมากขึ้น ร่างกายขยาดใหญ่ขึ้น และเริ่มมีการสร้างกระดูกและฟัน ในไตรมาสนี้คุณแม่อาจจะทานอาหารได้น้อย แต่อาจจะต้องมีการเพิ่มมื้ออาหารเล็ก ๆ เข้าไปแทน เพื่อให้ได้รับสารอาหารและพลังงานที่เพียงต่อทั้งคุณแม่และคุณลูก
สารอาหารที่ควรได้รับในไตรมาสนี้ :
แคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันได้เป็นอย่างดี มีมากใน นม ถั่ว ธัญพืช เครื่องในสัตว์ เป็นต้น
อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันดี ไม่ทำร้ายสุขภาพคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ พบมากใน ปลาทู ปลาจะระเม็ด ปลาแซลมอน
ตัวอย่างอาหารบำรุงครรภ์ในไตรมาสที่ 3 : ยำปลาทู แกงเลียง ยำหัวปลี ฟักทองผัดไข่
อาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเลี่ยง ก็คือ เนื้อสัตว์ย่อยยาก อาหารรสจัด น้ำอัดลม ชา กาแฟ กัญชา แอลกอฮอล์ อาหารกระป๋อง อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ถั่วลิสง อาหารเหล่านี้ไม่ได้ส่งแค่สุขภาพของคุณแม่เท่านั้น แต่อาจจะส่งผลร้ายแรงต่อลูกน้อยในครรภ์เลยทีเดียว
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเลือกรับประทานอาหารที่ดีและเหมาะสม และควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 10 แก้ว เพื่อให้ทั้งคุณแม่และคุณลูกได้รับสารอาหารที่เพียงพอ เมื่อคุณแม่ทานอาหารที่ดี ลูกน้อยก็ได้รับสารอาหารที่ดีตามไปด้วย ก็จะทำให้สุขภาพดีทั้งคุณแม่คุณลูก ลูกน้อยก็จะเจริญเติบโตได้สมบูรณ์นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช , กรุงเทพธุรกิจ
Kommentit