Baby Blue คำยอดฮิตที่คุณแม่หลังคลอดจะได้ยินบ่อย ๆ ซึ่งภาวะนี้เป็นภาวะที่คุณแม่แรกคลอดอาจจะพบเจอกันได้มากถึง 75% เลยทีเดียว เกิดขึ้นได้กับทั้งคุณแม่มือใหม่ และคุณแม่ที่เคยมีลูกมาก่อนแล้วก็สามารถเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน วันนี้คุณแม่แรกคลอด หรือคุณแม่ที่ใกล้คลอดแล้ว มาทำความรู้จักกับภาวะ Baby Blue กันให้ละเอียด และเรียนรู้วิธีการรับมือภาวะนี้ไปด้วยกันนะคะ
Baby Blue คือ
ภาวะเบบี้บลู (Baby Blue) คือ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นภาวะทางด้านจิตใจที่เกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอด 1-2 สัปดาห์ หรือ 3-10 วันหลังคลอด โดยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่ลดลงอย่างรวดเร็วหลังคลอด ในขณะเดียวกันนั้นร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) และฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) เพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนมให้กับทารก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระดับฮอร์โมนนี้ รวมกับอารมณ์ความเครียด ความกังวลต่าง ๆ ของคุณแม่ จึงส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของคุณแม่หลังคลอด
เช็คอาการ Baby Blue
อาการของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรืออาการของเบบี้บลูนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 อย่าง คืออาการทางร่างกาย และอาการทางจิตใจ ซึ่งมีอาการด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
อาการทางด้านร่างกาย
รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท
เบื่ออาหาร มีความอยากอาหารน้อยลง
เหนื่อยง่าย ไม่สดชื่น ไม่อยากอะไร เชื่องช้า เซื่องซึม
อาการทางด้านจิตใจ
อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
หดหู่ ซึมเศร้า สิ้นหวัง รู้สึกไร้ค่า ร้องไห้แบบไม่ทราบสาเหตุบ่อยๆ
ขาดสมาธิ เครียด คิดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ
วิตกกังวล ใจสั่น กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดีพอ
รู้สึกไม่อยากเลี้ยงลูก ไม่มีความสุขในการดูแลลูก
วิธีการรับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Baby Blue)
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมักจะหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากลูกเริ่มปรับตัวกับโลกใบใหม่ได้ ทำให้เลี้ยงง่ายขึ้น ดูแลได้ง่ายขึ้น และคุณแม่ก็ได้พักผ่อนมากขึ้น รวมไปถึงฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่จะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ จึงทำให้อาการเบบี้บลูค่อยนๆ ดีขึ้น แต่เพื่อลดพบกระทบต่างๆ ในชีวิตประจำวันของคุณแม่ เมื่อคุณแม่สังเกตแล้วพบว่ามีภาวะนี้เกิดขึ้น คุณแม่แรกคลอดจะต้องดูแลตัวเอง
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ในปริมาณที่เหมาะสม
ออกกำลังกายเบา ๆ เป็นการผ่อนคลาย เช่น โยคะ
หากิจกรรมผ่อนคลายทำในระหว่างวัน เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง
ออกไปพบปะพูดคุยกับคนรอบข้าง หรือเพื่อน ๆ บ้าง
นอกจากนี้คนรอบข้างของคุณแม่หลังคลอดเอง ก็ควรช่วยกันดูแล โดยให้กำลังใจกันอยู่เสมอ และทำความเข้าใจกับสภาวะทางจิตใจที่คุณแม่หลังคลอดต้องเผชิญอยู่ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้หากคุณแม่มีอาการภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนานกว่า 2 สัปดาห์ หรือรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาในทันที เพื่อให้อาการดีขึ้ยและคุณแม่กลับมามีความสุขในการดูแลลูกน้อยเหมือนเดิม
Comments