มือเท้าปาก โรคฮิตหน้าฝนในเด็กเล็ก ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะสามารถแพร่กระจายเชื้อต่อกันได้รวดเร็วมาก เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่รู้จักวิธีดูแลป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคต่าง ๆ มากนัก ดังนั้นผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ เองจึงต้องคอยสังเกต และระมัดระวังให้ดีนั่นเอง
โรคมือเท้าปากนี้ เป็นโรคที่มักจะแพร่กระจายในช่วงหน้าฝน ซึ่งผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นมือเท้าปากได้เช่นกัน เพียงแต่อาจจะไม่ได้มีอาการที่รุนแรง หรือน่าเป็นกังวลเท่ากับเด็กเล็ก และไม่ได้พบมากเท่ากับเด็กเล็ก ดังนั้นวันนี้เรามาเรียนรู้ ทำความรู้จักกับโรคนี้ แล้วคอยระวังไม่ให้บุตรหลานติดเชื้อมือเท้าปากนี้กันค่ะ
มือเท้าปาก โรคฮิตหน้าฝน สาเหตุมาจาก
มือ เท้า ปาก เป็นโรคที่ติดเชื้อไวรัสในกลุ่มของเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งก็มีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ที่พบได้บ่อยก็อย่างเช่น คอกซากีไวรัส เอ16 (Coxsackievirus A16) พบมากในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และอีกชนิดที่ต้องระวังก็คือ เอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71หรือ EV71) สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ชนิดรุนแรง เพราะเสี่ยงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และอาจจะเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้ง 2 สายพันธุ์ที่ยกตัวอย่างมานี้ ในกลุ่มของเด็กเล็ก มักจะมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโตนั่นเอง และผู้ใหญ่เองก็สามารถพบได้ในบางรายเช่นกัน
โรคนี้สามารถแพร่กระจายได้ผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย หรือการไอ จามใส่กัน รวมไปถึงการใช้สิ่งของร่วมกันก็สามารถแพร่กระจายเชื้อได้เช่นกัน สามารถแพร่เชื้อได้ทันทีที่เริ่มมีอาการ และระยะเวลาการแพร่เชื้อที่มากที่สุดคือ ช่วง 7 วันแรกที่มีอาการมือเท้าปาก รวมถึงในเด็กบางรายมีการตรวจพบว่าอุจจาระก็สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ และยังพบอีกว่า แม้เด็กที่เป็นโรคนี้จะหายมาแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ยังพบเชื้อในอุจจาระของเด็กอยู่ด้วย
อาการของโรคมือ เท้า ปาก
คุณพ่อคุณแม่ต้องมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยให้ดี หลังจากที่ได้รับเชื้อมาได้ 3-6 วัน เด็กจะเริ่มแสดงอาการให้เห็นชัดขึ้นดังนี้
2-3 วันแรกหลังติดเชื้อ ลูกน้อยเริ่มมีไข้อ่อน ๆ รวมถึงมีอาการอ่อนเพลีย
1-2 วันต่อมา ลูกน้อยจะเริ่มเจ็บปาก มีตุ่มแผลในปาก ที่เพดาน ลิ้น กระพุ้งแก้ม และอาจลามออกมาบริเวณริมฝีปากด้วย เด็กๆ จะเริ่มไม่อยากรับประทานอาหารเนื่องจากการเจ็บแผลในปากนั่นเอง
ต่อมาจะเริ่มมีตุ่มแดง ตุ่มน้ำใส ตามบริเวณ ก้น นิ้วมือ นิ้วเท้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รวมไปถึงตามง่ามนิ้วมือและเท้าทั้ง 2 ข้างอีกด้วย
ทั้งนี้ในเด็กบางรายที่ติดเชื้อมือเท้าปากชนิดรุนแรง อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงขั้นร้ายแรงที่สุด คือ เสียชีวิตได้ ถึงแม้ว่าแผลตุ่มแดงต่าง ๆ จะหายไปแล้ว แต่คุณพ่อคุณแม่เองยังคงต้อง เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ซึ่งสัญญาณบ่งชี้ว่าลูกน้อยมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที มีดังต่อไปนี้
ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส และเป็นนานมากกว่า 48 ชั่วโมง
อาเจียนบ่อยครั้ง ไม่รับประทานอาหาร น้ำ หรือนม หรือรับประทานได้น้อยลง
มีอาการทางระบบประสาท เช่น ซึม กล้ามเนื้อกระตุก ชักเกร็ง ปวดศีรษะรุนแรง แขนขาอ่อนแรง เดินเซ ขาสั่น
มีอาการหอบเหนื่อย รวมถึงตัวซีด ตัวลายจนผิดปกติ
มีอาการเพ้อ พูดจาไม่รู้เรื่อง สื่อสารไม่ได้
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตความผิดปกติของลูกน้อยตามอาการข้างบนนี้ แนะนำให้รีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด เพื่อให้รักษาได้ทันการ
วิธีรักษาโรคมือ เท้า ปาก
โรคมือเท้าปากนี้ ในทางการแพทย์ยังไม่ได้มียารักษาที่ตรงกับการเชื้อ และยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรคนี้เช่นกัน ดังนั้นการรักษาโดยส่วนใหญ่จึงดูแลรักษาไปตามอาการที่พบ เช่น
เจ็บปาก เจ็บคอมาก จนรับประทานอาหารไม่ได้ ให้คุณพ่อคุณแม่พยายามป้อนน้ำ นม หรืออาหารอ่อน ๆ เพื่อไม่ให้ลูกน้อยเกิดภาวะขาดน้ำ ขาดอาหาร แนะนำให้ลูกน้อยทานของเย็น เช่น น้ำแข็ง ไอศกรีม เป็นต้น ของเย็นนี้จะช่วยลดอาการเจ็บแผลในปากได้
หากลูกน้อยมีไข้อ่อน ๆ สามารถให้ทานยาลดไข้ แก้ปวดได้ และให้คุณพ่อคุณแม่หมั่นคอยเช็ดตัวดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด
ในเด็กบางรายที่ค่อนข้างจะอ่อนเพลียมาก คุณหมออาจจะแนะนำให้นอนโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการว่าจะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหรือไม่ และอาจจะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดด้วยนั่นเอง
การป้องกันการติดเชื้อมือเท้าปาก
อย่างที่ทราบว่าโรคนี้มักติดกันผ่านทางน้ำมูกน้ำลาย จากการไอจาม สิ่งที่เราป้องกันได้ก็คือ แยกเด็กที่มีอาการมือเท้าปากออกจากเด็กคนอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปเป็นวงกว้าง และสิ่งสำคัญอีกอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยฝึกฝนให้ลูกน้อยทำเป็นประจำ คือ การรักษาความสะอาดนั่นเอง
ฝึกให้เด็ก ๆ ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ ไม่ว่าจะเข้าห้องน้ำ หรือหยิบจับสิ่งใดก่อนที่จะมาสัมผัสหน้า หรือสัมผัสผิวของตัวเองต้องล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้ง หากฝึกการล้างมือที่ถูกต้อง 7 ขั้นตอนได้จะดีมาก
ควรทำความสะอาดของเล่นอยู่เสมอ ทั้งที่บ้าน รวมถึงที่โรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ คุณครูที่ดูแลจะต้องหมั่นคอยทำความสะอาดของเล่นด้วย เนื่องจากอาจจะมีเชื้อไวรัสติดอยู่ตามของเล่นต่าง ๆ ได้เช่นกัน
ไม่ใช้ของร่วมกันกับเด็กหรือคนอื่นๆ เช่น กระติกน้ำ ช้อน ส้อม อื่นๆ คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมให้ลูกน้อยใช้เป็นของส่วนตัว เพื่อลดการติดเชื้อไวรัสมือ เท้า ปาก และไวรัสอื่น ๆ ที่ทำให้เจ็บป่วย
ควรให้ลูกน้อยสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ต้องไปในสถานที่แออัด หรือมีผู้คนพลุกพล่าน
ฉีดวัคซีนป้องกัน EV71 ปัจจุบันนี้มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก จากไวรัส EV71 ซึ่งเป็นเชื้อที่รุนแรงมาก ถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันมือถือปากจากไวรัส EV71 แล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อไวรัสตัวอื่นๆ ได้ แต่จะไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แนะนำให้คุณแม่พาลูกน้อยไปฉีดวัคซีนชนิดนี้ป้องกันไว้ดีที่สุด สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี โดยจะต้องฉีดด้วยกัน 2 โดส โดยต้องมีระยะเวลาการฉีดห่างกัน 1 เดือน
คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวล โรคมือเท้าปากนี้หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงก็สามารถหายได้เองใน 1 สัปดาห์ แต่ก็มีโอกาสที่จะสามารถกลับเป็นซ้ำได้ด้วย ในระหว่างที่ทำการดูแลรักษาอยู่นั้น แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลความสะอาดผิวของลูกน้อยด้วย โฟมอาบสระ ที่มีส่วนช่วยในการลดแบคทีเรีย ลดการติดเชื้อซ้ำซ้อน พร้อมบำรุงผิวให้แข็งแรงขึ้น มี pH5.5 ที่ใกล้เคียงผิวลูกน้อย อ่อนโยนสูงสุด ซึ่งจะช่วยลดการระคายเคือง บรรเทาอาการคัน ลดอาการอักเสบของผิวได้ดี
หลังจากมือเท้าปากหายแล้ว ก็อาจจะทิ้งรอยดำ รอยแดงของผื่นไว้บนผิวลูกน้อยได้ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เลือกบำรุงดูแลผิวลูกน้อยด้วย โลชั่นลดรอยดำ คิดค้นสูตรโดยคุณหมอ โดยเลือกเป็นสูตรที่มี Anti - inflammation , Anti - irritation เพราะจะช่วยลดการอักเสบ ลดรอยดำ ทำให้รอยจากผื่นหรือแผลของมือเท้าปากหายเร็วขึ้น และเลือกโลชั่นที่เสริม OMEGA3,6,9 เซรามายด์และกรดอะมิโน ที่จำเป็นต่อผิวลูกน้อยด้วย เพื่อเสริมชั้นผิวให้แข็งแรง ไม่ระคายเคืองง่าย หากเลือกเป็นสูตรที่มีวิตามิน B รวม และวิตามิน E ด้วยจะดีมาก เพราะจะบำรุงผิวของลูกน้อยให้กลับมาเนียนสวยเหมือนเดิมได้นั่นเอง แนะนำให้ทาทุกครั้งหลังทำความสะอาดผิว และทาซ้ำบริเวณที่มีรอยดำ รอยแดงด้วย เพื่อให้โลชั่นเข้าไปฟื้นฟูผิวลูกน้อยให้กลับมาเนียน สีผิวสม่ำเสมอ ผิวแข็งแรงได้ดียิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ , โรงพยาบาลศิครินทร์
Comments